ใช่..มันยากอย่างที่ทุกคนเข้าใจ การขอเงินจากสถาบันการเงินไม่ใช่เรื่องที่เราชาวเอสเอ็มอี จะสามารถทำด้วยตนเองแบบง่าย ๆ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะขายสินค้า หรือบริการเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว จุดเริ่มต้นจึงมุ่งสู่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ประกอบสัมมนาอาชีวะตามความถนัด จากการเดินทางพบสอนผู้ประกอบการทั่วประเทศไม่เคยมีผู้ประกอบการรายย่อยท่านใดเลยที่ก่อตั้งธุรกิจหรือเริ่มต้นกิจการด้วยการคิดว่าจะกลายเป็นบริษัทใหญ่โตในอนาคต ดังนั้นเขาเหล่านั้นจึงเดินเข้าสู่วงจรชีวิต ธุรกิจแบบไม่มีตำราใดสอน หากแต่เป็นการเดินด้วยความรู้สึกอินเนอร์ล้วน ๆ
เส้นทางการเดินทางของชาวเอสเอ็มอีจึงไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมใด ๆ เรื่องการเงิน มีเพียงเงินลงทุนกับตำหรับสูตรเด็ด และทำเลขายสักแห่ง แล้วเริ่มเปิดร้านขายกันเลย เปิดร้านเช้าทำขาย จนเย็นค่ำ ปิดร้าน ออกจากร้านไปตลาดซื้อหาวัตถุดิบมาเก็บไว้เตรียมทำวันต่อไป เงินรายได้จากการขายจึงอยู่ในรูปของเงินหมุนที่ไม่ผ่านระบบธนาคาร เก็บไว้แล้วหมุนออกไปซื้อของในวันถัดไปตลอดเวลา เมื่อกิจการมีรายได้มากขึ้นมีคนสนใจสั่งของมากขึ้น ต้องขยายกำลังผลิต ต้องซื้อเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่ม ก็จะใช้เงินที่เก็บไว้มาเป็นการลงทุนเพิ่ม บ้างก็อาศัยเงินกู้นอกระบบ ผ่อนรายวัน มาช่วย บ้างก็เริ่มมีเครดิตธนาคาร ด้วยการใช้บัตรเครดิต ก็จะใช้วงเงินในบัตรมาหมุนเวียนเพิ่มทัน โดยไม่ได้คำนึงถึงดอกเบี้ยที่แฝงมากับความสามารถทางการเงิน โดยไม่ทันระวังว่าวันหนึ่งวันใดเกิดยอดขายตก สะดุดด้วยต้องปิดร้าน หรือมีคู่แข่งมาเปิดแข่งใกล้ ๆ จะต้องทำให้รายได้ที่เคยได้ลดลง นี่คือที่มาของ วงจรการเงินที่เลวร้ายสำหรับเอสเอ็มอี
จุดผิดพลาดอยู่ที่ไหน จุดผิดพลาดเริ่มที่ใจเราไม่นิ่งพอ เมื่อมีสถาบันการเงิน หยิบยื่นโอกาสในการใช้เงินกู้ เราก็รับด้วยความเต็มใจ ภูมิใจ ว่าเรามีเครดิตดีเขาจึงให้เราใช้บัตรเครดิตบ้าง บัตรกดเงินสดบ้าง โดยไม่สนใจว่า "อัตราดอกเบี้ยสูง" มากเพียงใด ถ้าใช้จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ จุดผิดพลาดเกิดจากใจเราไม่นิ่งพอ เมื่อมีเงินมากระดับหนึ่งก็หันหน้าเข้าหาความสะดวก เริ่มซื้อรถใหม่ ด้วยเหตุผล ของมันต้องมี มันจำเป็นต้องใช้ ต้องขนของงัย ภาระการซื้อรถไม่ใช่แค่เงินดาวน์ ไม่ใช่แค่เงินผ่อน แต่มันหมายถึงภาระการบำรุงรักษา ค่าประกันภัย ค่าภาษี ค่าวัสดุสิ้นเปลีองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถ จนเป็นภาระแฝงเข้ามาเพิ่มในรายจ่ายไม่รู้ตัว
จุดผิดพลาดสำคัญคือ ไม่เคยทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รายวัน ไม่เคยนำเงินรายได้เข้าบัญชีธนาคาร ถึงแม้จะเปิดบัญชีไว้ก็ตาม ผลเสียเรื่องแรกคือ ไม่สามารถรู้ถึงสถานกำไร ขาดทุนของกิจการ รู้ว่าเงินยังมีหมุนต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อใดที่เกิดปัญหาก็สายเสียแล้วที่จะแก้ไข เพราะจะรู้สึกตัวตอนที่อยู่ในสภาวะ ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ คือเงินหมด ทางแก้จึงมองหาแหล่งกู้เป็นทางเดียว และส่วนใหญ่จะได้รับคำตอบว่า "ไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ให้ท่านได้" ผลเสียข้อที่สองคือ เมื่อไม่มีการทำบัญชี หรือการนำเงินเข้าบัญชีธนาคาร ทำให้ขาดหลักฐานที่เชื่อถือได้ทางการเงินอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถของเงินกู้จากธนาคารได้ ไม่สามารถเลือกแบบเงินกู้ที่เหมาะสมได้เรียกว่าขาดอำนาจการต่อรองกับสถาบันการเงินอย่างสิ้นเชิง
ทางแก้ให้กู้เงินง่าย...รู้จักเรื่องเงินให้มากพอ
เริ่มจากออม
1. รู้จักเงินของเรา การรู้จักเงินของเราดีที่สุด คือ ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รายวันซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่ามันยุ่งยากมาก ๆ ต้องจดต้องบันทึกทุกครั้งที่ใช้เงิน กลัวจะจดไม่ได้ จดไม่ไหว เพราะแค่ยุ่งกับหน้าร้านก็มากพอแล้ว ขอแนะนำให้ลองใช้แอพมือถือมาช่วยครับ (ตามภาพ) แอพพิเคชั่นพวกนี้ช่วยเราบันทึกรายรับ รายจ่ายรายวันได้อย่างสะดวก แค่เปิดมือถือ แล้วกรอกข้อมูลทุกครั้งที่ใช้จ่าย ฝึกนิสัยให้ชินแล้วเราก็จะได้บัญชีรายรายรับรายจ่าย ของเราทำให้เรารู้จักว่าเงินส่วนไหนจำเป็น ส่วนไหนไม่จำเป็น รายจ่ายอะไรตัดได้ รายจ่ายอะไรจำเป็น เท่านี้เราก็จะรู้จักเงินของเรา ซะที
2. เงินออม เงินเก็บ ต้องจ่ายเก็บก่อนใช้ หลายคนเวลาตั้งใจเก็บเงินมักจะ "ใช้เหลือแล้วค่อยเก็บ" ซึ่งในความเป็นจริง จะเหลือเก็บไหม คำตอบร้อยทั้งร้อย ไม่เหลือ ดังนั้นเงินเก็บจึงเป็นเงินที่ต้องเก็บทันทีที่ได้เงินรายได้ จำไว้ให้ขึ้นใจ "เก็บก่อนใช้" ไม่ใช่ "ใช้ก่อนเก็บ" และควรแยกบัญชีธนาคารเป็นบัญชีเงินเก็บ ซึ่งไม่ต้องทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเอทีเอ็ม คือ ช่องทางเล็ดลอดของเงิน ต้องปิดช่องทางเล็ดลอดของเงินทุกช่องทางให้มากที่สุด
3. บริหารเงินออมอย่างมีสติ การออมเงินด้วยการฝากธนาคารเพียงอย่างเดียวเป็นการออมเงินที่ผิด แท้จริง ควรออมเงินพักเงินไว้ในธนาคาร เมื่อมีเงินมากเพียงพอ ควรมองหาแหล่งพักเงินที่ "ให้ผลตอบแทนดี" กว่าดอกเบี้ยธนาคาร ส่วนใหญ่ก็จะเป็น "กองทุนเปิด" ต่าง ๆ ที่มีผลประกอบการดี ให้ดูผลประกอบการย้อนหลัง 10 ปี เงินออมก้อนนี้คือเงินเก็บระยะยาว เกิน 5 ปี จึงจะเห็นผลตอบแทนชัดเจน ควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งเก็บในกองทุนเปิด ส่วนหนึ่งเก็บในกรมธรรม์ประกันชีวิต ส่วนหนึ่งเก็บในทองคำ
จะเก็บในส่วนไหนให้ดูว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นมีสภาพคล่องดีมากพอหรือไม่เผื่อต้องการใช้เงินจะต้องเบิกต้องถอนต้องขาย ส่วนจะว่าจะต้องเก็บต้องมีสักเท่าไหร่ จึงจะพอ แนะนำว่าให้รวมรายจ่ายทั้งหมดของตนเองทั้งเดือนว่ามีเท่าไหร่ ควรจะมีเงินเก็บเท่ากับรายจ่ายรายเดือน มากกว่า 10-12 เดือน จึงจะถือว่ามีเงินเก็บในระดับปลอดภัย แต่หากต้องการความมั่นคง ควรมีเงินเก็บมากขึ้นไปกว่านั่น
รู้จักดอกเบี้ย
4. หยุดใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล (ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำ) แล้วจัดการหนี้บัตรให้เร็ว จ่ายให้มากกว่าที่เขากำหนด เร่งปิดบัตรให้เร็วที่สุดเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินกู้ปกติ (อัตราดอกเบี้ยบัตร 18%) ถึงจ่ายขั้นต่ำทุกเดือนโดยไม่ได้ใช้วงเงินเลย ก็ยังเป็นนี้จนบัตรเติม เพราะดอกเบี้ยสูงกว่าเงินจ่ายค่างวด 8%ทุกเดือน
5. ดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ ให้ระวังคำโฆษณา สอบถามให้ดีว่า อัตราดอกเบี้ยต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยต่อเดือน รถเก่ามือสองดอกเบี้ยแพงกว่า รถใหม่มือหนึ่งเสมอ คิดเรื่องดอกก่อนซื้อรถยนต์เสมอ เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์เป็นประเภทดอกเบี้ยอัตราคงทีแม้เงินต้นจะลดลงทุกเดือนแต่ดอกเบี้ยคิดเท่ากันตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้าย
รู้จักธนาคารและประเภทเงินกู้
6. ธนาคารแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคาร sme bank ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ธนาคารส่งออกนำเข้า ธนาคารเหล่านี้มีระบบสินเชื่อเฉพาะเรื่องแตกต่างกัน และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ดังนั้นควรติดตามข่าวสารการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ประเภทที่สองคือ ธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิย์ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน เป็นต้น ธนาคารเหล่านี้มีประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อแบบบุคคล (ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำ) ดอกเบี้ยแพง สินเชื่้อธุรกิจ ดอกเบี้ยถูกกว่า แต่มีเงื่อนไข เช่นต้องเป็นนิติบุคคล ต้องประกอบการมาไม่น้อยกว่า 3 ปี ต้องส่งงบการเงินและมีผลประกอบการกำไร
7. การวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคาร อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หลักเกณฑ์สำคัญ ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การวิเคราะห์สัดส่วนของทรัพย์สินต่อหนี้สิ้น ต้องมีสัดส่วนของทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน คือมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งถ้าไม่มีบัญชีรายรับรายจ่าย การเดินบัญชีธนาคาร หรือทรัพยสินอื่นเงินออม จะไม่สามารถกู้เงินได้ เป็นต้น ในการวิเคราะห์ยังมีเงื่อนไขที่แตกแยกย่อยไปอีกตามประเภทสินเชื่อ ซึ่งรายละเอียดแนะนำให้ขอรับคำปรึกษาอย่างละเอียดจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร
***************************
รู้ใจธนาคาร ก็จะสามารถปรับตัวให้ผ่านหลักเกณฑ์เตรียมความพร้อมของตัวเองให้พร้อมก่อนการยื่นกู้ เท่านี้ก็สามารถจะกู้เงินได้ไม่ยาก รักษาเครดิตทางการเงินให้ดีเมื่อวันที่จำเป็นต้องการใช้วงเงินจะราบรื่นปัญหาไม่มี
ฝากแชร์บทความนี้ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน
อ.กุ้ง วีระยุทธ เชื้อไทย
มกราคม 2563
0 ความคิดเห็น